กฎบัตรอาเซียนช่วยให้อาเซียนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร
มีข้อกำหนดใหม่ ๆ มากมายในกฎบัตรอาเซียนที่จะช่วยปรับปรุงโครงสร้างการทำงานและกลไกต่าง ๆ ของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนเพิ่มความยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหา เช่น
1. กำหนดให้เพิ่มการประชุมสุดยอดอาเซียนจากเดิมปีละ 1 ครั้ง เป็นปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้ผู้นำมีโอกาสหารือกันมากขึ้น พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงทางการเมืองที่จะผลักดันอาเซียนไปสู่การรวมตัวกันเป็นประชาคมในอนาคต
2. มีการตั้งคณะมนตรีประจำประชาคมอาเซียนตามเสาหลักทั้ง 3 ด้าน คือ การเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เพื่อกำหนดทิศทางและประสานงานเพื่อให้การดำเนินงานของแต่ละเสาหลักมีเอกภาพมากขึ้น
3. กำหนดให้ประเทศสมาชิกแต่งตั้งเอกอัครราชฑูตประจำอาเซียนไปประจำที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งไม่เพียงแต่จะแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจแน่วแน่ของอาเซียนที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อมุ่งไปสู่การรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนในอนาคต แต่ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปร่วมประชุมและเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก
4. หากประเทศสมาชิกไม่สามารถตกลงกันได้โดยหลักฉันทามติ ให้ใช้การตัดสินใจรูปแบบอื่นได้ตามที่ผู้นำกำหนด
5. เพิ่มความยืดหยุ่นในการตีความหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน โดยมีข้อกำหนดว่า หากเกิดปัญหาที่กระทบต่อผลประโยชน์ส่วนรวมของอาเซียนหรือเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ประเทศสมาชิกต้องหารือกันเพื่อแก้ไขปัญหา และกำหนดให้ประธานอาเซียนเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
6. กฎบัตรอาเซียนจะให้สถานะนิติบุคคลแก่อาเซียนในฐานะองค์กรระหว่างรัฐบาล ในการมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรอื่น ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในอนาคต